การเตรียมความพร้อมนักศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาคริสตศาสนศาสตร์เพื่อเข้าสู่การทำงาน

การเตรียมความพร้อม (readiness preparation) เป็นกระบวนการในการคาดการณ์ล่วงหน้าว่าต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง เพื่อให้เกิดความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงตามทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง (Hayes, 2014; McCalman & Potter, 2015) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อ ทัศนคติ ความตั้งใจและขอบเขตของวัตถุประสงค์ โดยสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงประสบความสำเร็จ (Armenakis, Harris, & Mossholder, 1993) ส่วนในการด้านจัดการศึกษานั้น การเตรียมความพร้อมมีความสำคัญสูงสุดเนื่องจากช่วยให้การเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาเป็นไปอย่างราบรื่น ส่งเสริมความสำเร็จทางวิชาการ เพิ่มความมั่นใจและแรงจูงใจของนักนักศึกษา ลดช่องว่างของปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เพิ่มประสิทธิภาพให้กับคณาจารย์ อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ส่วนบุคคล ส่งเสริมการพัฒนาทักษะที่สามารถถ่ายทอดได้ด้วยการเตรียมนักศึกษาอย่างเพียงพอ สถาบันการศึกษาสามารถให้ความรู้ ทักษะ และกรอบความคิดที่จำเป็นเพื่อรับมือกับความท้าทายทางวิชาการใหม่ ๆ ส่งเสริมรากฐานที่มั่นคงสำหรับการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การเตรียมความพร้อมจึงเป็นกระบวนการที่มีจุดมุ่งหมายให้นักศึกษามีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ และบรรลุผลการเรียนรู้ในเชิงบวก นอกจากนี้ยังช่วยให้อาจารย์ผู้สอนสามารถปรับการสอนให้ตรงกับความต้องการที่หลากหลายของผู้เรียน และส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมกัน นอกจากนี้ การเตรียมความพร้อมยังเป็นการบ่มเพาะทักษะที่ขยายออกไปนอกห้องเรียน ทำให้มั่นใจได้ว่านักศึกษาจะพร้อมสำหรับการศึกษาต่อในอนาคตและความพยายามในวิชาชีพ ท้ายที่สุดแล้ว การลงทุนในการเตรียมความพร้อมเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการสร้างสภาพแวดล้อมทางการศึกษาที่สนับสนุนและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพของนักศึกษาให้สูงสุด และกำหนดเส้นทางสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิตและความสำเร็จในวิชาชีพ

ชุมชนการปฏิบัติการเตรียมความพร้อมนักศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาคริสตศาสนศาสตร์เพื่อเข้าสู่การทำงาน เป็นชุมชนการปฏิบัติที่จัดทำขึ้นเพื่อให้อาจารย์ประจำ และบุคลากรของคณะคริสตศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยคริสเตียนที่เป็นสมาชิกของชุมชนการปฏิบัติและผู้สนใจทราบถึงแนวทางการปฏิบัติของสมาชิกในชุมชน คือ ความรู้ในการปฏิบัติการด้านการเตรียมความพร้อมนักศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาคริสตศาสนศาสตร์เพื่อเข้าสู่การทำงาน ที่เป็นส่วนในการเสริมสร้างและพัฒนาความพร้อมให้กับนักศึกษา ด้านวิชาการ ด้านชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณคริสเตียน และด้านทักษะ ผ่านองค์ความรู้นั้น ๆ เมื่อได้นำความรู้ที่ฝังอยู่ในตัวของผู้ที่เป็นสมาชิกของชุมชนมาศึกษาแลกเปลี่ยนแล้ว ความรู้ที่ฝังอยู่ในตัวก็จะกลายเป็นความรู้ของชุมชนในอนาคต

การเตรียมความพร้อมนักศึกษาที่ควรจะเป็นในด้านวิชาการ ชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณคริสเตียน และทักษะ เพื่อเข้าสู่การทำงานควรจะมีกระบวนการและวิธีการดำเนินงานในรูปแบบเชิงการบูรณาการเพื่อเสริมสร้างความพร้อมของบัณฑิตด้านคริสตศาสนศาสตร์ในอนาคต คือ มิติชีวิตที่มีความสมดุล (whole being) ที่ถูกพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณอย่างสอดคล้องและสมดุลเติบโตบนพื้นฐานของความรู้และความเข้าใจ นำไปสู่การอุทิศตัว ความมุ่งมั่นและหัวใจแห่งการรับใช้พระเจ้า มีมุมมองและทัศนต่อตนเองตามคุณค่าตามการทรงเรียก มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นโดยการรัก เคารพ และให้เกียรติ การมีสัมพันธภาพกับสิ่งทรงสร้างและการเห็นโอกาสในสถานการณ์ต่าง ๆ ในศตวรรษที่ 21 ที่เปลี่ยนแปลงภายใต้การฝึกฝนและการมีวินัยฝ่ายวิญญาณ โดยการเตรียมความพร้อมทางด้านวิชาการที่นอกเหนือจากการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรฯ แล้ว ควรให้ความสำคัญกับบทบาทของคณาจารย์และผู้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมและผลักดันให้นักศึกษาเป็นผู้ริเริ่มการเรียนรู้แบบกำกับตนเอง (self-regulated learning) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนและกระตุ้นให้นักศึกษาพัฒนาและฝึกฝนตนเองทางด้านวิชาการที่คณะคริสตศาสตร์ได้จัดขึ้น รวมถึงการตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ การวางแผนและกำกับติดตามตนเองของนักศึกษา โดยคณาจารย์และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีบทบาทในการให้คำแนะนำที่ชัดเจนเกี่ยวกับกลยุทธ์การควบคุมตนเอง ส่งเสริมกรอบความคิดในการเติบโต (growth mindset) ในทุกกระบวนการ แนะนำโอกาสในการทบทวนและประเมินตนเอง และให้ข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์เพื่อช่วยให้นักศึกษาพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ที่ควบคุมตนเองได้ ส่วนในด้านชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณคริสเตียนเป็นการเตรียมความพร้อมผ่านเรียนรู้จากแบบอย่างในชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณของคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ รวมถึงรุ่นพี่ ที่สามารถเป็นพี่เลี้ยงฝ่ายวิญญาณได้ ผสมผสานการฝึกวินัยในชีวิตด้านต่าง ๆ ที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาด้านชีวิตและวินัยฝ่ายจิตวิญญาณ เช่น การเฝ้าเดี่ยว การอธิษฐาน การกิน การนอน การออกกำลังกาย การอ่านหนังสือ การรับผิดชอบเวร การทำงานร่วมกัน จากการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์อย่างสม่ำเสมอในการใช้ชีวิตร่วมกันในคณะคริสตศาสนศาสตร์ ส่งผลให้นักศึกษามีความชัดเจนมากขึ้นต่อพันธกิจการรับใช้พระเจ้า การฝึกฝนด้วยวินัยชีวิตตามคำสอนของพระเยซูคริสต์ในฐานะการเป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณ การจัดนมัสการพระเจ้า การแบ่งปันพระคำ การอ่านและศึกษาพระคำของพระเจ้า ซึ่งเป็นการเสริมสร้างชีวิตส่วนตัวต่อพระเจ้าและยังมีอิทธิพลเชิงบวกต่อการก่อรูปทางฝ่ายจิตวิญญาณทั้งการเรียนรู้ในชีวิตส่วนตัวและเรียนรู้ฝึกฝนที่จะทำงานในอนาคต สำหรับด้านทักษะ เป็นศาสนศาสตร์ปฏิบัติ (practical theology) สามารถนำสิ่งที่เรียนรู้ไปปฏิบัติใช้ เช่นการเทศนา การเป็นผู้นำและบริหารงานคริสตจักร การประกอบ ศาสนพิธีต่าง ๆ การนมัสการ การให้คำปรึกษา การใช้ดนตรีในการนมัสการ การใช้เทคโนโลยีในพันธกิจ ฯลฯ และทักษะอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการเป็นผู้รับใช้ หรือที่เรียกว่า “soft skill” เช่น การปรับตัว ความคิดสร้างสรรค์ในพันธกิจ การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม การตัดสินใจ เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันต้องการคนทำงานได้หลายอย่างในเวลาเดียวกัน (multi-tasking) ด้วยเหตุนี้นักศึกษาควรจะมีทักษะด้านอื่นเพิ่มเติม ที่ถนัดรองลงมาจากงานรับใช้ที่ทำ (multi-skill) เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับตัวนักศึกษาเอง และพันธกิจการรับใช้ที่สามารถปรับเปลี่ยนตามโลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้

การเตรียมความพร้อมนักศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาคริสตศาสนศาสตร์เพื่อเข้าสู่การทำงานมีลักษณะเชิงบูรณาการ กล่าวคือ เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาพร้อมกันทั้งวิชาการ ชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณคริสเตียนและทักษะไปพร้อมกัน โดยคณะคริสตศาสนศาสตร์มีจุดเด่น คือ นักศึกษาและคณาจารย์มีโอกาสด้านเวลาที่ใช้ทำกิจกรรมร่วมกัน เกิดแรงจูงใจหรือแรงบัลดาลใจในการเรียนรู้จากการเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้ของตนเองอยู่เสมอ มีความมุ่งมั่นเพื่อเตรียมตัวเองให้พร้อมสำหรับการทำงานในอนาคต มีอาจารย์ที่ให้ความใส่ใจ เอาใจใส่ และมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อฝึกฝนอบรมเชิงพฤติกรรม ทางอารมณ์และทางปัญญาให้กับนักศึกษา ซึ่งด้านวิชาการเริ่มต้นจากการเตรียมความพร้อมให้กับนักศศึกษาทั้ง 4 ชั้นปีก่อนเปิดเรียนเป็นพิเศษ โดยนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ทางคณะคริสตศาสนศาสตร์จัดค่ายสร้างสาวกที่ให้คณาจารย์และเจ้าหน้าที่ร่วมกันใช้เวลาด้วยกันไม่น้อยกว่า 45 วัน ในการเตรียมนักศึกษาในด้านพื้นฐานคอมพิวเตอร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย เมื่อเปิดภาคการศึกษา หลักสูตรได้จัดวิชาด้านคริสตศาสนศาสตร์และวิชาศึกษาทั่วไปตามลำดับชั้นปีการปีการศึกษา จากวิชาพื้นฐานสู่วิชาที่ยากขึ้นตามลำดับ เพื่อนักศึกษาได้มีกระบวนการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และสร้างจุดยืนของตนเอง การเตรียมด้านวิชาการเป็นกระบวนการซึ่งต้องใช้เวลาโดยผู้สอนเป็น Coach ผ่านกลุ่มสนทนาและอภิปรายต่าง ๆ ส่วนในด้านจิตวิญญาณและทักษะ เป็นการผสมผสานจากพื้นฐานชีวิตคริสเตียนทั้งหมดที่เน้นการฝึกฝนวินัยชีวิต การนมัสการ การเฝ้าเดี่ยว การร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งเสริมชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณคริสเตียน ควบคู่กับการเล่นดนตรี ฝึกฝนทักษะด้านการแบ่งปันพระวจนะและการบันทึกการเฝ้าเดี่ยว การใช้ชีวิตนอกห้องเรียนในคณะฯ นักศึกษาได้ใช้ชีวิตประจำวันร่วมกัน ทำกิจกรรมต่าง ๆ นอกห้องเรียนร่วมกัน ซึ่งต้องใช้ทั้ง Hard Skill และ Soft Skill สโมสรนักศึกษาได้บริหารชีวิตผ่านกิจกรรม ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้บทบาทของตนเอง และการเคารพคนอื่น และสะท้อนผผ่านกิจกรรมฝ่ายวิญญาณต่าง ๆ ที่มุ่งส่งเสริมให้นักศึกษาพัฒนาตัวตนภายใน โดยให้สอดคล้องกับศักยภาพภายนอก กำหนด ค้นหาและสร้างตัวตนตามแบบแห่งการทรงเรียกในการเป็นผู้รับใช้พระเจ้า

รูปแบบหรือลักษณะแนวโน้มของการพัฒนากระบวนการและวิธีการเตรียมนักศึกษาเพื่อเข้าสู่การทำงานที่สอดคล้องกับคริสตจักรไทยและสังคมไทยในอนาคต ควรให้ความสำคัญการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งสภาพสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีการปรับตัว เปลี่ยนแปลง รวมถึงการพัฒนาตนเองผ่าน “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” โดยอาจมีการสำรวจหรือศึกษาสภาพสังคมในปัจจุบัน และการดำเนินพัธกิจของคริสตจักรไทย เพื่อนำมาปรับปรุงการจัดการเรียนการสอน การจัดกิจกรรมส่งเสริมนอกห้องเรียนที่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากขึ้น นักศึกษาควรได้รับการฝึกฝนให้อยู่กับชุมชนและให้ชีวิตมีผลกระทบต่อชุมชนให้มากที่สุดเพราะนี่คือจุดเริ่มต้นของกระบวนการทำงานทั้งในคริสตจักรและพันธกิจ ในขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องมีแนวคิดให้กว้างในระดับสากลเพื่อที่จะสามารถมองโลกและสิ่งต่าง ๆ ได้กว้างขึ้นในการที่จะริเริ่มอะไรใหม่ ๆ รวมไปถึงประยุกต์สิ่งต่าง ๆ ที่ดีให้เหมาะกับบริบทของตนเอง ในด้านวิชาการ คณะควรปรับวิชาหลักและวิชาเสริมให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์และความต้องการของคริสตจักรในปัจจุบัน เช่น วิชาประเด็นทางคริสตศาสนศาสตร์ มุ่งเน้นให้นักศึกษามีจุดยืนต่อปัญหาของคริสตจักรและสังคม เช่น เรื่องกฎหมายการทำแท้ง การแต่งงานของคนเพศเดียวกัน LQBTQ+ เป็นต้น ในขณะที่ด้านทักษะการรับใช้ เพิ่มศักยภาพนักศึกษาด้วยการอภิบาลในรูปแบบการให้คำปรึกษาชีวิตในด้านต่าง ๆ เช่นการรับมือกับความเครียด โรคซึมเศร้า ชีวิตสมรส และการเลี้ยงลูก เป็นต้น โดยนำหลักคริสตศาสนศาสตร์เป็นพื้นฐานในการแก้ไขและป้องกันปัญหาต่าง  ๆในคริสตจักร และชีวิตฝ่ายวิญญาณ มุ่งเน้นการสร้างตัวตนภายใน เช่นวัตถุประสงค์ของชีวิต สันติสุข ความชื่นชมยินดี ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณลักษณะชีวิตภายนอก เพื่อเป็นผู้นำฝ่ายวิญญาณในช่วงของการเปลี่ยนแปลง และอนาคตที่จะมาถึง


เอกสารอ้างอิง

Armenakis, A. A., Harris, S. G., & Mosshoder, K. W. (1993). Creating readiness for organization change. Human Relations, 46(6), 623-681.

Hayes, J. (2014). The Theory and Practice of Change Management (4th edition). Palgrave Macmillan.

McCalman, J. & Potter, D. (2015). Leading Cultural Change: The theory and practice of successful organizational transformation. Kogan Page