การให้คำปรึกษาของอาจารย์ที่ปรึกษาชีวิตจิตวิญญาณคริสเตียน

จิตวิญญาณเป็นประสบการณ์ที่มีความหมายเฉพาะของบุคคลซึ่งอาจจะรับรู้และให้ความหมายของจิตวิญญาณในมิติที่แตกต่างกัน แต่โดยสากลแล้วเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมิติในด้านความเชื่อและศรัทธาต่อสิ่งที่มีค่าสูงสุด การมีคุณค่า ความหมาย ความหวังและเป้าหมายของชีวิต ความสัมพันธ์ ความผูกพันและสิ่งยึดเหนี่ยว โดยองค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้จิตวิญญาณเป็นอีกมิติหนึ่งที่เป็นตัวบ่งชี้สภาวะสุขภาพ เพื่อให้ครอบคลุมสุภาวะที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย จิต สังคมและจิตวิญญาณ (วรวรรณ จันทวีเมือง และทรงฤทธิ์ ทองมีขวัญ, 2559 อ้างถึงใน ยุทธภัณฑ์ พินิจ และคณะ, 2564) โดยชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณคริสเตียนในรูปแบบทั่วไปนั้น เป็นคุณลักษณะที่สะท้อนมาจากทุกด้านในสัมพันธภาพของความเป็นมนุษย์โดยมีพระเจ้าเป็นศูนย์กลาง การดำเนินชีวิตด้วยการอธิษฐาน การอ่านพระคัมภีร์ การนมัสการพระเจ้า การออกไปเป็นพยานเพื่อประกาศเรื่องพระเยซูคริสต์ การถวายทรัพย์ การเข้ากลุ่มสามัคคีธรรม การทำสังคมสงเคราะห์ ตลอดจนการช่วยเหลือบุคคลและสังคม ดังนั้น ในบรรยากาศที่เกิดขึ้นถือเป็นประสบการณ์ในชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณทั้งในรูปแบบส่วนตัว หรือการทำร่วมกันของแต่ละกลุ่มคนตามแบบแผนนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงและนำไปสู่การเติบโตด้านชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณอย่างเป็นลำดับ (McMinn et. al., 2010; McMinn, 2011; Willard, 1988; เนติ คู่โชติกุล, 2563)

คณะคริสตศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยคริสเตียน เป็นสถาบันการการศึกษาที่จัดการเรียนรู้ให้กับนักศึกษาในหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาคริสตศาสนศาสตร์ โดยมีเป้าประสงค์คือ การทำตามหลักคำสอนในพระคริสตธรรมคัมภีร์ ทั้งทางด้านวิชาการและการเสริมสร้างพัฒนาคุณภาพชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณคริสเตียน ตลอดจนภาคการฝึกปฏิบัติพันธกิจคริสตจักร ก่อนที่ผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรจะเข้าสู่การทำงานการรับใช้พระเจ้า มีส่วนร่วมในการพัฒนาคริสตจักร การพัฒนาชีวิตนักศึกษาผ่านกระบวน การให้คำปรึกษาของอาจารย์ที่ปรึกษาชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณจึงเป็นบทบาทในการเสริมสร้างการเติบโตวุฒิภาวะทางจิตวิญญาณของนักศึกษา ที่เน้นการออกแบบการให้คำปรึกษาโดยอาจารย์ที่ปรึกษาคำนึงหลักการพัฒนาชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณคริสเตียนที่เหมาะสมกับแนวทางพัฒนาชีวิตทางด้านคริสตศาสนศาสตร์เป็นหลัก ผ่านการรับฟัง การสนทนาพูดคุย การช่วยเหลือ ให้คำแนะนำและหนุนใจ ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่สามส่วน ส่วนแรก เป็นการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับชีวิตความสัมพันธ์กับพระเจ้าเป็นการส่วนตัวของนักศึกษา การใช้ชีวิตคริสเตียนด้านฝ่ายจิตวิญญาณ ส่วนที่สองคือ การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับผลการดำเนินชีวิตด้านฝ่ายจิตวิญญาณที่เป็นรูปธรรม ซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณคริสเตียนที่เปลี่ยนแปลง และส่วนที่สามคือ ความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับผู้อื่น

ลักษณะการให้คำปรึกษาของอาจารย์ที่ปรึกษาชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณเป็นบทบาทในการออกแบบการให้คำปรึกษาให้เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบท โดยมีสองลักษณะคือ ลักษณะแรกเป็นการออกแบบการให้คำปรึกษาในกิจกรรมกลุ่ม ได้แก่ กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ ที่เน้นการพบปะแบบกลุ่ม โดยทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การเสริมสร้างความสัมพันธ์ การศึกษาพระคัมภีร์ร่วมกัน การแบ่งปันและหนุนใจผ่านเรื่องราวต่าง ๆ ในช่วงสถานการณ์ของชีวิต และการอธิษฐานเผื่อซึ่งกันและกัน ส่วนลักษณะที่สองคือ การออกแบบการให้คำปรึกษาแบบรายบุคคล โดยอาจารย์ที่ปรึกษาและนักศึกษาได้พบปะกันเป็นการส่วนตัวตามความต้องการ ขอรับคำปรึกษาขอนักศึกษาซึ่งเกิดขึ้นตามสถานการณ์เฉพาะในส่วนนี้อาจารย์ที่ปรึกษามีบทบาทในการรับฟัง เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่กำลังเผชิญสถานการณ์เฉพาะได้ตอบสนองต่อการจัดการปัญหานั้น ๆ ด้วยท่าทีที่สอดคล้องกับพระคริสตธรรมคัมภีร์ อันเป็นการเสริมสร้างวุฒิภาวะทางจิตวิญญาณคริสเตียน ในลักษณะการให้คำปรึกษานี้ ต้องอาศัยการบูรณาการทางด้านจิตวิทยาการให้คำปรึกษา หลักการให้คำปรึกษาตามแนวพระคริสตธรรมคัมภีร์ สถานการณ์เฉพาะ ฯลฯ มาออกแบบการให้คำปรึกษาและกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น เพื่อส่งเสริมวุฒิภาวะทางจิตวิญญาณโดยเน้นเรื่องความต้องการในภาพรวมของการพัฒนาชีวิต และความต้องการขอรับคำปรึกษาเฉพาะบุคคล

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่กระทบต่อหลักการทำงานการให้คำปรึกษาของอาจารย์ที่ปรึกษาชีวิตจิตวิญญาณ แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงของระยะปกติใหม่ (new normal) อาจารย์ที่ปรึกษาด้านชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณได้การปรับเปลี่ยนวิธีการให้คำปรึกษาเป็นรูปแบบออนไลน์บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ทำให้อาจารย์และนักศึกษาพบกันได้จากต่างสถานที่ในเวลาเดียวกัน ซึ่งมีผลกระทบด้านข้อจำกัดด้านความรู้สึกที่ใกล้ชิดที่จะสามารถหนุนใจ ให้กำลังใจและการสร้างความสัมพันธ์ได้ตามรูปแบบปกติ การออกแบบวิธีที่ใช้ร่วมกับแนวทางการให้คำปรึกษาแบบไม่เป็นทางการ และยืดหยุ่นตามบริบทและสถานการณ์ที่ไม่แน่อนจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเป็นแนวปฏิบัติ โดยเน้นการพูดคุย ให้กำลังใจ ตลอดจนการเสริมแรงเชิงบวกในการใช้ชีวิตของนักศึกษาผ่านช่องทางออนไลน์ ดังนั้น แนวปฏิบัติควรมีอยู่ด้วยกันสองด้านคือ ด้านแรก เป็นการพัฒนาทักษะการใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์ของอาจารย์ที่ปรึกษา เช่น เทคนิคการใช้งานกิจกรรมสร้างสัมพันธ์ เทคนิคการประยุกต์ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับการติดตามผล (Follow-up) การให้คำปรึกษา หรือกิจกรรม/เกม ออนไลน์ที่เข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชนของนักศึกษาบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ด้านที่สอง เป็นการพัฒนาช่องทางใหม่ ๆ ควบคู่กับการให้คำปรึกษาในรูปแบบปกติ เช่น แบบกลุ่ม อาจใช้แอพพลิเคชัน Clubhouse เพื่อลดความเป็นทางการ โดยกำหนดหัวข้อในการพูดคุยในวงสนทนา ช่วงเวลาการทำกิจกรรมร่วมกันและการแสดงความคิดเห็น รวมถึงการให้คำปรึกษาที่เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาและเสริมสร้างชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณ

แนวทาง วิธีการ หรือเทคนิควิธีเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาชีวิตจิตวิญญาณคริสเตียนที่อาจารย์ที่ปรึกษาเลือกใช้ ส่งผลต่อการทำงานให้คำปรึกษาเป็นไปในลักษณะยืดหยุ่น ลดความเป็นทางการเพื่อให้กระบวนการให้คำปรึกษาเกิดบรรยากาศผ่อนคลายในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยผลที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ ลักษณะแรก เป็นการกระตุ้นทำให้เกิดบรรยากาศการพูดคุยและการให้คำปรึกษา และลักษณะที่สอง คือ กระตุ้นกระบวนการคิดของนักศึกษา ที่สะท้อนจากสถานการณ์และการตอบสนองต่อปัญหาด้วยกระบวนการคิด ดังนั้นแนวปฏิบัติควรมีอยู่ด้วยกันสองด้านคือ ด้านแรก เป็นการช่วยให้นักศึกษาตระหนักถึงเป้าหมายและรูปแบบการใช้ชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณ เช่น การช่วยกระตุ้นบรรยากาศให้เกิดการสำรวจตนเอง ทั้งความเข้าใจ ความรู้สึกและเป้าหมายการใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับพระคริสตธรรมคัมภีร์ ด้านที่สอง เป็นการส่งเสริมกระบวนการคิด เช่น ใช้รูปแบบของความคิดสร้างสรรค์ในเชิงการแก้ไขปัญหา กระตุ้นให้เกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์ การคัดเลือกวิธีการแก้ไขปัญหาที่สมดุลกับวิถีชีวิตและประสบการณ์ในชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณ โดยอาจเป็นกิจกรรมที่นำเอาปัญหาปัจจุบันหรือสิ่งที่น่าสนใจมาเรียนรู้ร่วมกัน 

การพัฒนาชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณของนักศึกษา จึงเป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการอย่างคู่ขนานกับการจัดระบบการศึกษาทางความรู้ในวิชาการและวิชาชีพ เพราะบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจะต้องมีคุณลักษณะการเป็นแบบอย่างของผู้นำฝ่ายจิตวิญญาณคริสเตียน (สกุณี เกรียงชัยพร และสาณุรักษ์ ฟ่องวาริน, 2560) ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนในระหว่างการใช้ชีวิตนักศึกษา โดยกิจกรรมหลักที่คณะคริสตศาสนศาสตร์ได้จัดเตรียมเพื่อการเสริมสร้างพัฒนานักศึกษาคือ “การให้คำปรึกษาด้านชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณคริสเตียน” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ถูกออกแบบโดยเน้นเป้าหมายของการให้คำปรึกษาด้านชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณที่เป็นไปตามหลักพระคริสตธรรมคัมภีร์ ในการเสริมสร้างวุฒิภาวะคริสเตียนเพื่อช่วยให้นักศึกษาได้เข้าถึงประสบการณ์ในชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณ อันสามารถจัดการกับสถานการณ์หรือปัญหาเฉพาะหน้าทั้งหลายด้วยท่าทีและบุคลิกภาพที่สอดคล้องกับคุณลักษณะชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณคริสเตียนที่เจริญเติบโตขึ้นตามลำดับ (Crabb, 2013) คำนึงถึงบริบทความหลากหลายและความแตกต่างของนักศึกษา เชื่อมโยงกับการมีสุขภาวะที่ดีทั้งร่างกาย จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณ การดำรงชีวิตอย่างพอเพียง โดยมีวัฒนธรรมและจิตสำนึกแห่งการเป็นพลเมืองของประเทศชาติที่ตระหนักถึงคุณค่าของเพื่อนมนุษย์ตามพระประสงค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า

รายการอ้างอิง

เนติ คู่โชติกุล. (2563). พระธรรมสดุดีกับชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณ. ประชากรธุรกิจ.

ยุทธภัณฑ์ พินิจ, วิริยะ ทิพยวรการกูร, สิรพร วีระเศรษฐ์ศิริ และสาณุรักษ์ ฟ่องวาริน. (2564). ความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมชีวิตคริสเตียนและผลที่เกิดขึ้นในชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณตามการรับรู้ของ คริสเตียนไทยในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19. วารสารมหาจุฬานาครทรรศน์, 8(12), 244-259.

สกุณี เกรียงชัยพร และสาณุรักษ์ ฟ่องวาริน. (2560). ความสัมพันธ์ระหว่างวินัยฝ่ายวิญญาณกับความฉลาดทางจิตวิญญาณของนักศึกษาในสถาบันคริสต์ศาสนศาสตร์: กรณีศึกษา วิทยาลัยพระคริสต์ธรรมแมคกิลวารีและสถาบันกรุงเทพคริสตศาสนศาสตร์. วารสารวิชาการ วิทยาลัยแสงธรรม, 9(2), 116-129.

Crabb, L. (2013). Effective Biblical Counseling (2nd ed.). Zondervan.

McMinn, M. R. (2011). Psychology, Theology, and Spirituality in Christian Counseling. Virginia: Tyndale House.

McMinn, M.R., Staley, R. C., Webb K. C., & Seegobin, W. (2010). Just what is Christian counseling anyway?. Professional Psychology: Research and Practice, 41(5), 391-397.

Willard, D. (1988). The Spirit of the Disciplines: Understanding How God Change Lives. Harper & Row.