คำสอนจากปัญญาจารย์ บทที่ 1 “ทุกสิ่งก็ล้วนอนิจจัง”

คำสอนจากพระธรรมปัญญาจารย์ บทที่ 1 “ทุกสิ่งก็ล้วนอนิจจัง”

โดย ศจ.วิรัช เศรษฐโสภณกุล

คำว่า ปัญญาจารย์ (Ecclesiastes) แปลมาจากคำในภาษาฮีบรูว่า โคเฮเลท ซึ่งมีความหมายว่า ผู้รู้ ผู้เทศนา นักพูด และปรัชญาเมธี

ผู้เขียนพระธรรมปัญญาจารย์กล่าวว่าท่านเป็น เชื้อสายของดาวิด เป็นกษัตริย์ในเยรูซาเล็ม(1:1) และยังกล่าวว่า“ข้าพเจ้ามีสติปัญญามากยิ่ง  มากกว่าใครๆที่ครองอยู่เหนือกรุงเยรูซาเล็มมาก่อนข้าพเจ้า  ใจข้าพเจ้าก็เจนจัดในสติปัญญาและความรู้ อย่างยิ่ง”(1:16)

แสดงให้เห็นว่า ผู้เขียน คือ กษัตริย์ซาโลมอน

ผู้เขียนเริ่มต้นด้วยคำว่า อนิจจัง และสรุปตอนท้ายว่า สารพัดอนิจจัง ได้สะท้อนให้เห็นว่า ชีวิตที่อยู่ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ แม้ภายนอกดูเหมือนมีความเจริญก้าวหน้า มีสิ่งงดงามน่าชื่นชมยินดี แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชีวิตก็เปรียบเหมือนวงล้อที่เคลื่อนไปซ้ำซากจำเจ วนเวียนไม่หยุดและก็ไม่ได้ออกจากวงจรของชีวิต

ข้อ 1-4 สภาพชีวิตของมนุษย์ภายใต้ดวงอาทิตย์ที่เป็นอนิจจัง

-ชีวิตมนุษย์ที่ต้องตรากตรำทำงานหนัก สุดท้ายก็ไม่ได้อะไรไป

-ชีวิตมนุษย์ของแต่ละชาติพันธุ์ก็หมุนเวียน ล่วงลับไป

ข้อสรุปของชีวิตมนุษย์ ก็คือ อนิจจัง                                             

ข้อ 5-7 สภาพธรรมชาติที่สะท้อนภาพของความอนิจจัง

-ดวงอาทิตย์ขึ้นดวงอาทิตย์ตก  เป็นวงจรชีวิตที่หมุนเวียนไปข้างหน้าไม่รู้ที่สิ้นสุด

-ลมพัดเวียนไปเวียนมา เป็นวงจรชีวิตที่หมุนเวียนไปอย่างไม่มีเป้าหมาย

-แม่น้ำไหลลงสู่ที่ทะเล หรือมหาสมุทรตลอดเวลา ทะเลก็ไม่เต็ม น้ำก็ไม่ขาดหายไป

นี่เป็นวัฏจักรของการหมุนเวียน เป็นวงจรชีวิตที่หมุนเวียนไปอย่างไม่จบสิ้น

ข้อสรุปของภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ก็คือ อนิจจัง

ข้อ 8-11 สภาพจิตใจมนุษย์ที่สะท้อนภาพของความอนิจจัง

-ชีวิตมนุษย์ที่ไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ ดิ้นรน ต่อสู้ แสะหาก็เพราะ อยากรู้ อยากเห็น อยากลอง อยากกิน อยากได้ อยากดัง แล้วจะมีสิ่งใดมาเติมเต็มให้กับมนุษย์ได้

-ชีวิตมนุษย์ที่ไม่มีอะไรใหม่ สิ่งที่เข้าใจว่าใหม่ในวันนี้ แท้จริงคือสิ่งที่ได้เกิดมาแล้วในอดีต และสิ่งใหม่ที่มีในวันนี้ก็จะเป็นสิ่งเก่าในวันพรุ่งนี้ แล้วจะมีสิ่งใหม่ใดภายใต้ดวงอาทิตย์นี้

-ชีวิตมนุษย์ที่ไม่มีคุณค่า แม้ประวัติศาสตร์จะพยายามบันทึกเรื่องราวที่ควรแก่การจดจำ แต่มีใครบ้างที่จดจำหรือนำไปใช้ ประวัติศาสตร์มักซ้ำรอยเ พราะมนุษย์ไม่ได้ให้คุณค่ากับเรื่องราวในอดีต ชีวิตคนรุ่นเก่าที่จากไปจึงไม่ได้มีความหมายสำหรับคนในปัจจุบัน และชีวิตคนในปัจจุบันก็จะไม่มีคุณค่าอะไรสำหรับคนรุ่นอนาคตเช่นกัน

ข้อสรุปของจิตใจมนุษย์ ก็คือ นี่แหละความอนิจจัง

ข้อ 12-15 ประสบการณ์ชีวิตที่สะท้อนภาพของความอนิจจัง

-แม้เป็นถึงกษัตริย์ มีอำนาจ มีบารมี มีทรัพย์สมบัติ และมีสิ่งที่ปรารถนาทุกอย่าง

-แม้ได้เสาะแสวงหาสิ่งต่างๆด้วยปัญญา

-แม้ได้พยายามทำสิ่งต่างๆอย่างถูกต้อง

-แม้ได้ฟันผ่าอุปสรรค์ต่างๆด้วยความยากลำบาก

-สิ่งที่พบคือ อะไรที่คดทำให้ตรงไม่ได้ อะไรที่ขาดอยู่จะนับให้ครบไม่ได้

ข้อสรุปของประสบการณ์ชีวิต คือ สารพัดก็อนิจจัง

ข้อ 16-18 ความรู้และสติปัญญาของมนุษย์ก็สะท้อนภาพของความอนิจจัง

-แม้มีสติปัญญาเหนือกว่าผู้อื่น  และได้ใช้สติปัญญาอย่างเต็มที่

-แม้มีความรู้มากกว่าคนทั้งหลาย และนำความรู้ไปใช้จนถึงที่สุด

-แม้มีความตั้งใจอย่างสูงส่ง และได้เพียรพยายามอย่างเต็มกำลัง

-สิ่งที่พบคือ สติปัญญายิ่งมาก ความทุกข์ระทมก็ยิ่งมาก ความรู้ยิ่งเพิ่มเข้ามา ความเศร้าโศกก็ทวีคูณเข้ามา

ข้อสรุปของสติปัญญาและความรอบรู้ คือ กินลมกินแล้ง