เบื้องหลังของสิทธิสตรี

feminism-295245_1280

เขียนโดย : ศจ.นันทิยา เพ็ชรเกตุ

พระเจ้าจึงทรงสร้างมนุษย์ขึ้นตามพระฉายาของพระองค์ตามพระฉายาของพระเจ้านั้น พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ขึ้น และได้ทรงสร้างให้เป็นชายและหญิง (ปฐมกาล 1.27 )

สำหรับ ประเทศไทย ขณะนี้เรื่องสิทธิสตรีเป็นประเด็นใหญ่ที่สังคมทุกระดับกำลังให้ความสำคัญ เพราะเรื่องสิทธิสตรีได้ถูกนำมาพูดกันบ่อยขึ้นในวง เสวนา หรือ สัมมนา …ด้าน การศึกษาในมหาวิทยาลัยของซีกโลกตะวันตก ได้เปิดหลักสูตรศึกษาเกี่ยวกับสิทธิสตรีถึงระดับปริญญาเอก ส่วนในแวดวงของชาวคริสต์ได้ศึกษากันกว้างขวางทั้งในยุโรปและอเมริกาเหนือ สำหรับประเทศไทยสถาบันการศึกษาของรัฐมีไม่กี่แห่งที่เปิดสอนสตรีศึกษา[1]  ถึงระดับปริญญา และสถาบันการศึกษาของชาวคริสต์ที่ผลิตผู้รับใช้พระเจ้าทั้งของโปรเตสแตนต์ และคาทอลิก วิชาเกี่ยวกับสตรีในทรรศนะของคริสตชนแทบจะไม่บรรจุไว้ในหลักสูตร การเรียนการสอน ผู้รับผิดชอบหลักสูตรมักอ้างว่า ประเด็นเกี่ยวกับสตรี จัดซ่อนไว้ในบางวิชาของหลักสูตรศาสนศาสตร์แล้ว

อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีนักวิชาการไทยก็ได้ทำการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับประเด็นสิทธิสตรีมากมาย( เพื่อเสนอผลงานทางวิชาการ ) ส่วน บรรดา เอ็น จี โอ กลุ่ม ต่างๆ ระดับชาติก็มีสตรีเป็นผู้ขับเคลื่อน ในเรื่องความยุติธรรมและความชอบธรรมในสังคม บรรดาสตรี เป็นผู้นำการเรียกร้อง ในประเด็นต่างๆ เช่น สิทธิของเด็ก สิทธิของสตรี สิทธิมนุษยชน สิทธิของสัตว์ สิทธิของผู้บริโภค การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นต้น ล้วนมีพลังสตรีเป็นผู้นำการเคลื่อนไหว ด้วยความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่อง

ย้อนไปที่อดีตสตรีเป็นฝ่ายที่ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของชาย ไม่มีสิทธิและเสรีภาพอย่างที่ควรจะได้รับ ถูกกดขี่ข่มเหงและเอารัดเอาเปรียบมากมาย จนกลายเป็นแรงผลักดันให้สตรีกลุ่มหนึ่งได้ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเรียกร้อง สิทธิอันชอบธรรม และความเท่าเทียมกันในสังคม ขั้นตอนการต่อสู้เป็นทั้งปัจเจกชน และการต่อสู้เป็นขบวนการ ซึ่งการต่อสู้เหล่านี้ได้เกิดขึ้นทุกหนแห่ง? เช่นในปี ค.ศ. 1789 ก่อนการอ่านคำประกาศสิทธิมนุษยชนในสมัชชาแห่งสหประชาชาติ บรรดาสตรีชาวปารีสได้พร้อมใจกันเดินขบวนไปยังพระราชวังแวร์ซายส์ เพื่อ เรียกร้องเสรีภาพ ความเสมอภาคและภราดรภาพ รวมทั้งการเรียกร้องความคุ้มครองแก่สตรีขึ้นเป็นครั้งแรก ในครั้งนั้น สตรีชาวฝรั่งเศสรายหนึ่ง ได้ลุกขึ้นมาประกาศ “สิทธิสตรี 17 ข้อ” อันได้แก่ เสรีภาพทางความคิด สิทธิทางการศึกษา สิทธิในการทำงาน สิทธิในการเลือกตั้ง สิทธิในการสมรส เป็นต้น แต่ในที่สุดเธอก็ถูกประหารชีวิต โดยข้อหาว่า “ละเลยคุณธรรมที่สตรีเพศควรจะยึดมั่น”

ที่สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1857 กลุ่ม ผู้ใช้แรงงานสตรีโรงงานทอผ้าและ ตัดเย็บเครื่อง นุ่งห่ม ได้เดินขบวนประท้วงในนิวยอร์ก เพื่อเรียกร้องสิทธิในการทำงานและให้มีการรับรองสภาพการทำงานของสตรีที่ดี ขึ้น ต่อมาปี ค.ศ.1866 ได้มีการประชุมสมัชชาของบรรดาสมาคมผู้ใช้แรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 1 ขึ้น และที่ประชุมได้มีมติเกี่ยวกับการทำงานประกอบอาชีพของสตรี ซึ่งถือเป็นมติที่ท้าทายต่อขนบประเพณีในสมัยนั้นมาก ที่กำหนดให้สตรีต้องอยู่กับบ้านเท่านั้น ต่อมาเมื่อ 19 กรกฎาคม ค.ศ.1889 คลารา เซทคิน ผู้นำสตรีชาวเยอรมันได้กล่าวสุนทรพจน์เป็นครั้งแรกในเรื่องปัญหาของสตรีต่อที่ประชุมผู้ก่อตั้งสภาคองเกรสสากล ครั้งที่ 2 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส คลารา เซทคินได้เรียกร้องให้สตรีมีสิทธิในการทำงาน เรียกร้องให้มีการคุ้มครองสตรีและเด็ก รวมทั้งยังได้เรียกร้องให้สตรีมีส่วนร่วมในการประชุมระดับชาติและระดับสากล ถือได้ว่าเป็นเสียงเรียกร้องที่สำคัญยิ่ง เพราะได้จุดประกายการเคลื่อนไหวในยุคนั้น ต่อมาอีก 10 ปี ได้ มีการจัดประชุมกลุ่มสตรีผู้ต่อต้านสงครามขึ้นที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ การประชุมครั้งนี้เป็นจุดเริ่มของการต่อต้านสงคราม ซึ่งได้มีการพัฒนาขบวนการต่อมาในการทำงานอย่างต่อเนื่องในช่วงคริสต์ศตวรรษ ที่ 20

กำเนิดการต่อสู้ของกรรมกรหญิง ในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1907 คลารา เซทคิน เป็นผู้นำพวกคนงานหญิง ของโรงงานทอผ้าเปิดฉากการต่อสู้ด้วยการนัดหยุดงาน และเดินขบวน เนื่องด้วยผู้ประท้วงเป็นเยาวชนหญิงอายุ 18-19 ปี ยังขาดประสบการณ์ในการต่อสู้ ในการต่อสู้ครั้งนั้นพวกเธอหลายร้อยคนจึงถูกจับกุม จากการถูกบีบคั้นจากสภาพชีวิตที่แร้นแค้น ไร้ความหวัง จุดไฟให้เยาวชนหญิงทุกคนร่วมกันต่อสู้ แม้ว่าในระยะแรกจะไม่ประสบผล แต่ก็ให้บทเรียนว่า ความยุติธรรมและสิทธิที่เท่าเทียมกันย่อมไม่ได้มาด้วยการร้องขอ แต่ได้มาด้วยการต่อสู้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ในการต่อสู้ครั้งนั้น พวกเธอได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากสตรีทั่วโลก ผลสะท้อน คือ ทำให้โลกทุนนิยมหวั่นไหว เพราะกรรมกรสตรีเหล่านี้ไม่ได้เพียงแต่แสดงพลังเท่านั้น เธอยังได้เรียกร้องสิทธิออกเสียงเลือกตั้งของสตรี และยังเรียกร้องให้ลดเวลาทำงานของกรรมกรให้เหลือวันละ 8 ชั่วโมง พร้อมทั้งปรับปรุง สวัสดิการ การต่อสู้ดำเนินไป 3 ปีเต็มที่กรรมกรโรงงานทอผ้าที่เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา จนกระทั่ง วันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1910 ผู้แทนสตรีจาก 18 ประเทศได้เข้าร่วมประชุมและเสนอให้มีการทำงานระบบสามแปด คือ 8 ชั่วโมงทำงาน 8 ชั่วโมงเพื่อการพักผ่อน 8 ชั่วโมงเพื่อการศึกษา แสวงหาความรู้เพื่อพัฒนา ศักยภาพ (เนื่องจากคนงานสมัยนั้นต้องทำงานในโรงงานวันละ 16-17 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด ไม่มีการประกันความปลอดภัยของแรงงานใดๆ และเป็นผลให้เกิดความเจ็บป่วยล้มตายในเวลาอันสั้น) และเรียกร้องให้กำหนดอัตราค่าจ้างงานให้เท่าเทียมกับชาย ให้คุ้มครองสวัสดิการสตรีและเด็ก และได้มีการฉลองวันสตรีสากลขึ้นเป็นครั้งแรก ดังนั้นวันที่ 8 มีนาคม จึงเป็นวันสตรีสากล ซึ่งหลายๆประเทศตอบรับ

ในปี ค.ศ.1912 มีการจัดวันสตรีสากลเพิ่มขึ้นในทวีปยุโรป เช่น ที่ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ สวีเดน และในปี ค.ศ.1913 มีการจัดชุมนุมวันสตรีสากลขึ้นในรัสเซียเป็นครั้งแรก ที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบอร์ก แม้จะมีการขัดขวางจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต่อมาในปี ค.ศ.1914 วันสตรีสากลที่จัดขึ้นก็ได้ชูคำขวัญของขบวนการสันติภาพ เพื่อต่อต้านสงครามที่กำลังคุกรุ่นอยู่ในยุโรป หลังจากนั้นเป็นต้นมาการฉลองวันสตรีสากลก็ทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สตรีในทวีปต่างๆ ทั้งในแอฟริกา เอเชีย และลาตินอเมริกา ต่างร่วมมือกันต่อสู้เพื่อสิทธิที่เท่าเทียมและเพื่อความก้าวหน้าทาง เศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการผลักดันให้ตระหนักในสิทธิมนุษยชนอย่างสมบูรณ์

ต่อมาปี ค.ศ.1957 สห ประชาชาติได้เห็นความสำคัญและเข้ามามีส่วนร่วมในการเชิญชวน ให้ทุกประเทศทั่วโลกกำหนดให้วันหนึ่งวันใด เป็นวันฉลองแห่งชาติว่าด้วยสิทธิสตรีและสันติภาพสากล โดยขึ้นอยู่กับขนบธรรมเนียมประเพณี และเบื้องหลังทางประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศ ซึ่งหลายๆ ประเทศได้ให้ความสนใจและให้ความสำคัญ ส่วนสหประชาชาติได้กำหนดให้ วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันสตรีสากล ส่วนประเทศไทยก็ตอบรับเช่นเดียวกัน

สำหรับสตรีในประเทศไทย กลุ่มสตรีและองค์กรแกนนำกลุ่มต่างๆ ได้มีการดำเนินกิจกรรมและรณรงค์อย่างต่อเนื่องกว่า 30 ปี เพื่อนำเสนอสถานการณ์ปัญหา การถูกเอารัดเอาเปรียบของ แรงงานสตรี อีกทั้งการทำงานโดยได้รับค่าจ้างและสวัสดิการอย่างไม่เป็นธรรมของสตรีที่เป็นอีกปัญหาใหญ่ ตลอดจนเรียกร้องความเสมอภาค และขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในรูปแบบต่างๆ ปัจจุบันแม้สิทธิของแรงงานสตรีและสตรีทั่วไปจะได้รับการพูดถึงและรับรอง เพิ่มมากขึ้น แต่ในสภาพความเป็นจริงแรงงานสตรีทั้งในระบบและนอกระบบยังต้องเผชิญปัญหากับ การถูกเลือกปฏิบัติ ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ไม่ได้รับความคุ้มครองเมื่อเจ็บป่วยจากการทำงาน สตรีถูกคุกคามเมื่อออกมาเรียกร้องสิทธิ ขณะเดียวกันสตรีทั่วไปก็ยังขาดความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิต แม้แต่สิทธิในชีวิต เนื้อตัว ร่างกาย ก็ยังถูกคุกคาม

เบื้องหลังการต่อสู้เรื่องสิทธิของสตรีไทยที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ครั้งแรกคือกรณีของ อำแดงจั่น[2] เป็นสตรีที่ออกมาเรียกร้องสิทธิพึงมีพึงได้ของตนในฐานะที่เป็นคน นางได้เรียกร้องสิทธิที่เป็นเจ้าของร่างกายของตนมิให้ถูกขายไปเป็นทาส? อีกรายคือ อำแดงเหมือน[3]  นางได้เรียกร้องสิทธิที่จะสามารถเลือกคู่ครองตามที่ตนเองต้องการ นางได้คัดค้านประเพณีการคลุมถุงชน

การต่อสู้ของสตรีไทยสองคนนี้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายลักพาเมื่อ พ.ศ.2408 โดยให้สิทธิสตรีในการเลือกคู่ครอง รวมทั้งแก้ไขกฎหมายผัวขายเมีย บิดา มารดาขายบุตร เมื่อปี พ.ศ.2411 โดยระบุว่า “ผัวจะขายเมียไม่ได้ถ้าเมียไม่ยินยอม” อย่างไรก็ตามปัญหาของสตรีไทยนับวันยิ่งซับซ้อนมากขึ้น แม้ว่าสตรีมีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งและสิทธิรับการเลือกตั้ง แต่ก็เป็นเรื่องยากที่พวกเธอจะได้รับเลือกตั้ง ทุกวันนี้สตรีไทยมีสิทธิทางการศึกษาระดับสูงๆ แต่ก็ยังยากที่จะก้าวสู่ความเป็นผู้บริหารระดับสูง ถึงแม้ว่าการบังคับแต่งงาน การขายลูก ขายเมียเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่การเอาลูกเอาเมียไปขัดดอกก็ยังมีอยู่ ส่วนความเชื่อว่าเมียเป็นสมบัติของผัวก็ยังคงอยู่ นอกจากนี้ยังมีประเด็นปัญหาหลัก ๆ  ต่อสตรีที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในสังคม ได้แก่ ความไม่เสมอภาคระหว่าง ชาย-หญิง การกำหนดค่าจ้าง และจ่ายค่าจ้างหญิงในการทำงานที่ต่ำกว่าเพศชาย การถูกเลือกปฏิบัติ ถูกเอารัดเอาเปรียบจากเพศชาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้บังคับบัญชา การถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ไม่ได้รับการคุ้มครองเมื่อเจ็บป่วยจากการทำงานอย่างที่สมควรจะเป็น การถูกคุกคามทางเพศในรูปแบบต่างๆ สิทธิในการเลือกใช้นามสกุล สิทธิในการลาคลอดอย่างต่ำ 90 วัน โดยได้รับค่าจ้างเต็ม ในทางปฏิบัติยังไม่เป็นจริง? ยังขาดการส่งเสริม การให้โอกาสในการศึกษาและพัฒนาตนเองในการประกอบอาชีพ และการยังมีปฏิบัติรุนแรงต่อสตรี

หาก ดูจากประเด็นปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคมปัจจุบันและบางครั้งเป็นเรื่องไม่ไกลตัว ซึ่งปัญหาเหล่านี้ยังคงรอการแก้ไขจากทุกฝ่ายในสังคม โดยเฉพาะตัวของเราเองทุกคนที่ต้องปรับทัศนคติต่อสตรีให้ดีขึ้น มีการคุกคามหรือเอารัดเอาเปรียบให้น้อยลงให้ได้มากที่สุด มีความเสมอภาคระหว่างเพศ ขณะเดียวกันสตรีเองก็ต้องทำให้เห็นถึงศักยภาพของตนเองที่เทียบเท่าเพศชาย และที่สำคัญที่สุดคือภาครัฐ ที่ต้องมาดูแลสนใจและเอาใจใส่ในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง เพื่อสังคมที่เท่าเทียมกันและสันติต่อไป เพราะเราได้เปิดมุมมองใหม่ โดยเรียนรู้ผู้ชาย และเข้าใจผู้หญิง

สำหรับคริสตชนแล้ว คือการนำเรากลับมาทำความเข้าใจเรื่องการถูกสร้างตามพระฉายาของพระเจ้า เพื่อให้อุปถัมภ์ ดูแล เกื้อกูล เอื้ออาทรต่อกันของชาย-หญิง ดังนั้นบทบาทของคริสตจักร หรือพระศาสนจักร ควรทบทวนทัศนคติ และการปฏิบัติ ต่อกันและกันให้เหมาะสม ตามหลักข้อเชื่อว่า  มนุษย์ ชาย หญิง นั้นเป็นฝีพระหัตถ์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า และถูกสร้างตามพระฉายของพระองค์”

[1] สตรี ศึกษา เป็นวิชารากฐานของการพัฒนามนุษย์และสังคมที่สำคัญ ในประเทศไทยยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย แต่ในหลายประเทศถือว่าเป็นวิชาที่สำคัญ เพราะเป็นศาสตร์ที่จะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจเรื่องมนุษย์อย่างลึกซึ้ง ปัจจุบันมหาวิทยาลัยของรัฐได้เปิดสอนวิชานี้ระดับปริญญาโท เพียง 2 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[2] คดีอำแดงจั่น: การแก้ไขหลักกฎหมาย ผู้หญิงเป็นควายผู้ชายเป็นคน ในปี พ.ศ. 2410 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงโปรดให้ออกประกาศพระราชบัญญัติเรื่องผัวขายเมีย บิดามารดาขายบุตร จ.ศ. 1229 การทูลเกล้าถวายฎีกาของอำแดงจั่นส่งผลให้พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องทรงวางหลักกฎหมายใหม่

[3] คดีอำแดงเหมือน : มูลเหตุของการออกพระราชบัญญัติลักภา จ.ศ. 1227 อำแดงเหมือนได้ทูลเกล้าถวายฎีกาต่อรัชกาลที่ 4 ร้องทุกข์กรณีที่บิดามารดาบังคับให้แต่งงาน ….การออกประกาศพระราชบัญญัติลักภา จ.ศ. 1227 (พ.ศ. 2406) เพื่อแก้ไขหลักกฎหมายโบราณซึ่งให้ อำนาจอิศระแก่บิดามารดาเหนือบุตรโดยไม่มีขอบเขตจำกัด อำนาจอิสระ ให้สิทธิแก่บิดามารดาในการจำหน่ายจ่ายโอนบุตรให้แก่ผู้อื่นตามความพอใจของตน รวมทั้งการบังคับให้บุตรแต่งงานตามประเพณีการคลุมถุงชน

* บทความนี้ได้ ตีพิมพ์ในอิสระรายเดือน กุมภาพันธ์ 2008 หน้า 16-19 โดยใช้นามปากกาว่า “ไอริณ”

ที่มาของภาพประกอบ : Pixabay.com